จากการติดตามอาชญากรรมในพื้นที่เมียวดี ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางอาชญากรรมไซเบอร์ที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา ทาง USIP พบว่ากลุ่มอาชญากรเหล่านี้กำลังขยายกิจกรรมผิดกฎหมายลงมาทางตอนใต้ของแนวชายแดนไทย-เมียนมา

พบว่ามีการตั้งถิ่นฐานใหม่ในเขตปกครองของกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army – DKBA) ซึ่งอยู่บริเวณชายแดน อำเภอพบพระ จังหวัดตากของไทย รวมถึงพื้นที่เมืองพญาตองซู ในรัฐกะเหรี่ยง และบริเวณชายแดนเจดีย์สามองค์ของไทยในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

รายงานล่าสุดจาก Frontier Myanmar เปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ Karen BGF ซึ่งระบุว่า กลุ่มของพวกเขาได้รับคำสั่งให้ดูแลความปลอดภัยให้กับนักธุรกิจชาวจีนที่เดินทางจากเมียวดีไปยังเมืองพญาตองซูถึงสองครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่รายนี้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมียนมาว่า ทาง Karen BGF และ DKBA ได้รับเงินตอบแทน 100,000 บาทต่อคน หากสามารถพานักธุรกิจชาวจีนไปยังจุดหมายปลายทางได้สำเร็จ และ 30,000 บาทต่อคน สำหรับการโยกย้ายพนักงานโดยปลอดภัย อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่เคยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจริง

เขายังระบุว่า BGF เป็นฝ่ายอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับชาวจีนที่ต้องการย้ายฐานมายังอำเภอสังขละบุรีของไทย ส่วน DKBA รับหน้าที่จัดหาและเช่าที่ดินหรือบ้านพักเมื่อพวกเขามาถึง ข้อมูลจากเครือข่ายเพื่อนร่วมงานของเขาชี้ว่า มีชาวจีนเดินทางมายังเมืองพญาตองซูแล้วประมาณ 2,000 คน โดยส่วนใหญ่มาจากเมียวดี เมืองปะอันในรัฐกะเหรี่ยง และเมืองอื่น ๆ ในรัฐมอญ

ความร่วมมือระหว่าง Karen BGF (หรือ KNA) และ DKBA ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในอดีต ทั้งสองกลุ่มเคยเป็นกองกำลังเดียวกัน และผู้นำของแต่ละฝ่ายยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด นอกจากนี้ การใช้เงินบาทเป็นสื่อกลางในการจ่ายค่าตอบแทนด้านความปลอดภัยก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากเงินบาทเป็นสกุลเงินหลักที่เครือข่ายอาชญากรรมใช้ในพื้นที่ชายแดนรัฐกะเหรี่ยง ทั้งในชีวิตประจำวัน ค่าจ้างพนักงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตลอดจนการทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากกว่าเงินจั๊ตของเมียนมา

“รัฐบาลต่าง ๆ ควรใช้มาตรการคว่ำบาตรเครือข่าย Karen BGF ทั้งหมด รวมถึงปิดกั้นไม่ให้พวกเขาดำเนินธุรกิจในไทย หรือใช้ระบบธนาคารไทยในการทำธุรกรรม” ยาดานาร์ โฆษกของ Justice For Myanmar กล่าวกับ BBC Thai